ภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด สามารถสรุปสาเหตุใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภท คือ การฉีกขาดจากการเกิดอุบัติเหตุ และการฉีกขาดจากการเสื่อมสภาพ การฉีกขาดที่เกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นหรือภาวะหินปูนในข้อไหล่ อาการปวดจะค่อยเป็นค่อยไป ตอนแรกอาจปวดไม่มากหรือหายไปเอง ต่อมาอาการปวดอาตรุนแรงขึ้นหรือถี่ขึ้น มีความยากลำบากในการใช้งานมากขึ้นหรือไหล่ติดมากขึ้น และมีอาการปวดตอนนอนตะแคงมากขึ้น
การตรวจวินิจฉัย
ในการรักษาผู้ป่วยเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาดสิ่งที่แพทย์จะทำเมื่อผู้ป่วยมาพบ คือ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และ อาจทำเอ็กซ์เรย์หรือMRI (เอ็กซ์เรย์แม่เหล็กไฟฟ้า) ซึ่งเป็นอันที่สามารถดูเส้นเอ็น Rotator cuff ได้เป็นอย่างดี
การรักษา
ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีอการปวดรุนแรงถึงขั้นไหน และอาการของภาวะเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด ณ ตอนมาพบแพทย์นั้นมีลักษณะความหนักเบาถึงขั้นไหน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา รวมถึงการปฏิบัติตัว ดูแลตัวเอง รวมถึงรบกวนการใช้งานของไหล่ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้การรักษาอาจแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
1.การรักษาแบบไม่ผ่าตัด
สำหรับผู้ป่วยที่พึ่งเริ่มมีอาการหรือลักษณะอาการยังไม่หนักหนาสาหัส สามารถรักษาโดยการให้ยาได้ โดยรับประทานยาพร้อมๆ กับการทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูไหล่ให้มีการใช้งาน ทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่น ร่วมกับการพักไหล่และปรับปรุงการใช้งานของไหล่ ประมาณ50% ของผู้ป่วยในกลุ่มที่มีเส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วนจะดีขึ้นและสามารถกลับไปใช้งานไหล่ได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงปกติ บางครั้งแพทย์อาจใช้วิธีฉีดยา (ยาสเตียรอยด์หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตีรอยด์) เข้าไปที่ข้อไหล่ถ้ารักษาโดยยารับประทานและ/หรือกายภาพแล้วยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ข้อดีของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด
เหตุผลที่สำคัญของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือ ป้องกันความเสี่ยงหลังการผ่าตัดไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อ ภาวะไหล่ติด ภาวะแทรกซ้อนจากการดมยา ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยในการผ่าตัดแบบส่องกล้องเย็บกรอหินปูนและเย็บซ่อมอมเส้นเอ็นหัวไหล่ ซึ่งผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดก็ไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะเหล่านี้ ในความเป็นไปได้ในการรักษาก็อาจจะมีมากกว่า
ข้อเสียของการรักษาแบบไม่ผ่าตัด
คือขนาดของเส้นเอ็นที่ฉีกขาดอาจขยายขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีการจำกัดการใช้งานในบางท่า กำลังของการใช้งานอาจลดลง
2.การรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการผ่าตัดอาจเป็นการักษาในขั้นสุดท้าย สำหรับผู้ที่เป็นมานานและอาการสาหัส หรือในผู้ที่รักษาแบบไม่ผ่าตัดมานานแล้วแต่ก็ไม่หายสักที โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ยังต้องใช้งานไหล่มากหรือนักกีฬาที่ต้องใช้ไหล่ หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุและมีภาวะเส้นเอ็นฉีกขาดร่วมด้วย
ปัจจุบันการผ่าตัดใช้วิธีส่องกล้องเย็บซ่อมเส้นเอ็นไหล่และ/หรือกรอหินปูน จะให้ผลการรักษาที่ค่อนข้างดีมาก ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดน้อย ผู้ป่วยสามารถเริ่มกายภาพหลังผ่าตัดได้อย่างรวดเร็วคือหลังผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการรักษาในผู้ที่ไม่ต้องการปล่อยให้เรื้อรัง ทั้งนี้ขึ้นอยุ่กับแพทย์และความต้องการของผู้ป่วยในการรักษาด้วย